เปิดตำนานสิ่งมหัศจรรย์ รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ  หรือเขาคิชกุฏ จันทบุรี

เปิดตำนานสิ่งมหัศจรรย์ รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ หรือเขาคิชกุฏ จันทบุรี

เขาคิชกุฏ หรือตัวสะกดที่ถูกต้องคือเขาคิชฌกูฏ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ  เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นสถานที่ศักสิทธิ์ที่คนไทยนับถือ มาลองดูสิ่งที่ท่านอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับความเป็นมาของเขาคิชกุฏว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 เรื่องเล่นขานตามตำนานทางศาสนาพุทธ

เขาคิชกุฏ จันทบุรี

ตำนานทางศาสนาพุทธได้กล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมรอบ และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณ ซึ่งเป็นกรรมการ และเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ได้เสนอให้ใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย โดยสภาพภูมิประเทศที่คล้ายคลึง และยังเป็นยอดเขาที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นั้นก็คือ รอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร ที่ตั้งข้างรอยพระพุทธบาท

หินลูกบาตรนี้จะอยู่ในลักษณะคล้ายลอยอยู่ริมลานพระพุทธบาท บนหินลูกนี้จะมีรอยคล้ายรอยพระหัตถ์ประทับอยู่ เหมือนกับกำลังดันหินก้อนนี้ไว้ ตรงข้ามกันรอยพระหัตถ์บนหินก้อนนี้ จะมีรูปรอยเท้าใหญ่ (รอยเท้าพญามาร) ใต้พระบาทมีถ้ำตาฤาษี จึงให้ใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา

ในทุกๆ ปีจะมีพิธีเปิดและพิธีปิด การขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกๆปี นอกจากนี้ พระครูธรรมสรคุณ ยังได้สอนว่า “เท้าของพระพุทธองค์ แม้ประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เคารพกราบไหว้ด้วยใจ อธิษฐานแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคนและเป็รสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไป”

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา มาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่ที่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้แวะพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อมาปูนอน สักพักก็พบแหวนใหญ่ที่สามารถสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอย

ต่อมานายติ่งและเพื่อนได้พาบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รุ่งเช้าก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน ขณะนั้นเจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ซึ่งหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรีได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องรอยพระพุทธบาทที่บ้านนายติ่ง จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง

หลังจากตรวจดูตามบริเวณนั้นโดยทั่วแล้ว ก็ได้พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง จากรอยพระพุทธบาทนั้น นั้่คือรอยพระพุทธบาทขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว2 เมตร ได้จารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ เป็นลานกว้าง สามารถให้คนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคน

ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมๆก้อนหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก มีชื่อเรียกกันว่า หินลูกพระบาท วางตั้งขึ้นมาอย่างแปลกประหลาด และมหัศจรรย์ เพราะดูแล้วไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ และยังมีหินอีกลูกหนึ่งที่ใหญ่มากเหมือนกัน อยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาท และยังมีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น บนก้อนหินนั้นตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่อันนี้เขาเรียกว่ารอยเท้าพญามาร เพียงแหงนหน้าขึ้นไปมองจะเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร

ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 20เมตร มีหินลูกข้างบนเป็นลาน และมองเห็นรอยรถ หรือรอยเกวียน เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า บนหลังถ้ำจะมองเห็นเป็นรูปเต่า

เมื่อหันไปมองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทก็จะมองเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไปจะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้างจริง มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกกันว่า ถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข่างบนถ้ำมีลักษณะคล้ายๆ เรือสำเภาจึงเรียกว่า ถ้ำสำเภา ยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่า ถ้ำตาฤๅษี

พระบาทแห่งนี้ทำไมจึงเรียกว่า “เขาคิชฌกูฏ” เพราะที่เรียกเช่นนี้ เดิมชื่อเขาในกรุงราชคฤห์ในประเทศอินเดีย ชื่อว่าเขาคิชฌกูฏ คล้ายกับว่าได้ไปยังนครราชคฤห์อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ครั้งปฐมโพธิกาลโน้น และการไปมาก็ไม่สู้ไกลนัก เปรียบเสม่อนว่าปีหนึ่งเรามีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทครั้งหนึ่ง บาทหรือเท้านับว่าเป็นอวัยวะที่ต่ำที่สุดของมนุษย์เรา แต่เท้านั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ถ้าขาดเท้าเสียก็ไม่สามารถที่จะไปประกอบคุณงามความดีได้ โดยเฉพาะเป็นเท้าของพระพุทธองค์ด้วยแล้วเป็นเท้าพิเศษและบริสุทธิ์ ผู้คนเลื่อมใสและเคารพกราบไหว้ส่วนเท้าของพระพุทธองค์ แม้จะประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้ามีความเชื่อมั่น มีความเคารพกราบไหว้ด้วยใจอธิษฐานแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคน และจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไปด้วยใจอันแน่วแน่ของกระแสจิตผู้นั้น

ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ

เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี

เป็นประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏหรือพระบาทพลวง เป็นเทศกาลเดือน 3 ที่ปฏิบัติต่อกันมา แต่ก่อนเริ่มขึ้นไปนมัสการในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน 3 ของทุกปี แต่มาระยะหลังนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงขยายเวลาเปิดให้นมัสการมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2536 เปิด 30 วัน ในปี พ.ศ. 2537 เปิด 45 วัน และในปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เปิดให้นมัสการ 60 วัน และยังคงเริ่มเปิดให้นมัสการในเดือน 3 ของทุกๆปี


เรียบเรียงโดย นางสาวสุพรรณี บัวแย้ม

นักศึกษาฝึกงานระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

ขอบคุณภาพจาก shutterstock

ขอบคุณทุกๆท่านที่ให้ความสนใจเข้ามาอ่านอย่างมากครับ

หากชอบบทความ หรือเห็นว่าเป็นประโยชน์ สามารถกดแชร์ ให้เพื่อนๆได้อ่านต่อด้วยนะครับ

สามารถติดตามเราได้ที่ Facebook www.facebook.com/greenlandholiday

หากสนใจเดินทางท่องเที่ยว หรือขอคำปรึกษาเกี่ยวกับทัวร์ในประเทศกรุณาติดต่อ

โทร. 022949742

greenlandtour@hotmail.com

Line id : @greenlandtour

www.greenlandholidaytour.com